เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (อังกฤษ: Sir Thomas Stamford Bingley Raffles); (6 กรกฎาคม พ.ศ. 2324 – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2369) ผู้บริหารอาณานิคม ผู้ก่อตั้งเมืองสิงคโปร์ เกิดบนเรือที่ลอยทะเลนอกฝั่งพอร์ตมอแรนท์ จาไมก้า แรฟเฟิลส์ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยมากแต่ก็ได้เข้าทำงานเป็นสมียนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ หลังจากการศึกษาด้วยตนเอง แรฟเฟิลส์ ก็ได้รับตำแหน่งก้าวหน้าเป็นผู้ช่วยเลขานุการเมืองปีนังได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจนถึงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการเขตอาณานิคมชวา (พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2359) และ ได้ปฏิรูประบบการบริหารใหม่โดยสิ้นเชิง
เมื่อปี พ.ศ. 2359 แรฟเฟิลส์ต้องกลับบ้านที่อังกฤษเนื่องจากการป่วยไข้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินชั้นเซอร์
เมื่อแรฟเฟิลส์หายป่วยและกลับมาดำรงตำแหน่งรองผู่ว่าราชการเขตอาณานิคม "เบงกูลู" (พ.ศ. 2361 - พ.ศ. 2366) ก็ได้จัดตั้งนิคมขึ้นที่เกาะสิงค์โปร์อีก แรฟเฟิลส์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดผู้หนึ่งในการพัฒนาจักรวรรดิอังกฤษในตะวันออกไกล
แต่เดิมเกาะสิงคโปร์เคยเป็นที่ตั้งหน่วยทหารของอาณาจักรศรีวิชัยในย่านสุมาตรา มีชื่อเป็นภาษาชวาว่า "เทมาเสก" (แปลว่าเมืองทะเล) ซึ่งต่อมาได้กลายเมืองค้าขายที่เพิ่มความสำคัญมากขึ้น แต่หลังจากประมาณ พ.ศ. 1850 เป็นต้นมา ความเจริญทางการค้าเสื่อมถอย ลงจนเกือบหาร่องรอยของเมืองเทมาเสกไม่พบ ระหว่าง ประมาณ พ.ศ. 2050 - พ.ศ. 2350 เกาะสิงคโปร์ได้กลายเป็นส่วนของอาณาเขตของสุลต่านยะโฮร์ โดยในช่วงนี้ก็ได้เกิดสงครามระหว่างชาวมาเลย์ กับโปรตุเกส อาคารบ้านเรือนถูกเผาจนราบเรียบและตกอยู่ในการครอบครองของโปรตุเกสอยู่ประมาณ 100 ปี และเปลี่ยนมือมาเป็นของฮอลันดาอีกประมาณ 100 ปี พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นป่าดงกลายเป็นที่อยู่ของชาวประมงและโจรสลัด
ใน ปี พ.ศ. 2362 แรฟเฟิลส์ได้แล่นเรือมาขึ้นเกาะ และได้มองเห็นศักยภาพและโอกาสเป็นอย่างมากที่จะใช้เป็นฐานที่ตั้งทางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ แรฟเฟิลส์ได้ทำข้อตกลงและเซ็นสัญญากับสุลต่านฮุสเซน ชาร์ ในนามของบริษัทอีสต์อินเดียเพื่อสร้างเป็นฐานที่ทำการค้าและการตั้งถิ่นฐาน แรฟเฟิลส์ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2366 เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างศีลธรรม ห้ามการพนัน และ การค้าทาส ซึ่งต่อมามีผู้คนหลายเชื้อชาติค่อย ๆ อพยพเข้ามาทำงานในสิงคโปร์และเริ่มทะลักมากขึ้น สิงคโปร์กลายเป็นส่วนในอาณัติของอาณานิคมอังกฤษโดยบริหารจัดการโดยบริษัทอีสต์อินเดียเมื่อ พ.ศ. 2401 และกลายเป็นอาณานิคมของจักวรรดิอังกฤษอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2410 เมื่อถึง พ.ศ. 2412 ปรากฏว่าสิงคโปร์มีประชากรมากถึง 100,000 คน
ในระยะหลังๆ เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์เริ่มเบื่อหน่ายการงานเนื่องจากมีศัตรูทางการเมืองมากจึงหันความสนใจไปในด้านธรรมชาติวิทยา เขาอยู่ดูแลการก่อตั้งสิงคโปร์จริงๆ เพียง 8 เดือน เมือเห็นว่าเรียบร้อยดีก็ออกเดินทางกลับประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2367 แต่แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้น แรฟเฟิลส์ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ก่อตั้งสิงคโปร์
ในปี พ.ศ. 2368 เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ได้ร่วมก่อตั้งสมาคมสัตวศาสตร์แห่งลอนดอนและสวนสัตว์ลอนดอนและได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก แต่ในปีต่อมาแรฟเฟิลส์ก็ได้เสียชีวิตจากการตกเลือดในสมองก่อนที่จะมีอายุครบ 45 ปี เพียง 1 วัน แรฟเฟิลส์นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความโศกเศร้าในชีวิตในโลกตะวันออกไม่น้อย เขาเสียภริยาในชวาและลูกอีก 3 คนในเบนคูเลน และเนื่องจากการเป็นนักต่อต้านการค้าทาส ศพแรฟเฟิลส์ถูกห้ามมิให้ฝังในบริเวณโบสถ์ที่บ้านเกิด (โบสถ์เซนต์แมรี่ เมืองเฮนดอน) โดยพระราชาคณะของเขตปกครองนั้นซึ่งมีครอบครัวที่เคยมีรายได้จากการค้าทาส แต่ในภายหลังเมื่อมีการขยายตัวโบสถ์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 หลุมฝังศพของแรฟเฟิลส์จึงได้เข้ามาอยู่ในตัวอาคาร
ทั้งในประเทศสิงคโปร์และในที่อื่นๆ ชื่อของเซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ได้ปรากฏในรูปแบบต่างๆ มากมาย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โทมัส_สแตมฟอร์ด_แรฟเฟิลส์